อีดี้ อามิน ดาด้า (พ.ศ. 2468[A] - 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546) เป็นเผด็จการทหาร และประธานาธิบดีของประเทศยูกันดาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514-2522 อามินเข้าเป็นสมาชิกในกองทัพอาณานิคมบริเตน สังกัดกรมทหารปืนเล็กยาวแอฟริกา หรือ KAR (King's African Rifles) ในปี พ.ศ. 2489 และในที่สุดเขาก็รั้งตำแหน่งนายพลและผู้บัญชาการกองทัพยูกันดา เขาขึ้นมามีอำนาจในเดือนมกราคม พ.ศ. 2514 หลังจากทำการขับไล่อดีตประธานาธิบดีมิลตัน โอโบเต้
ประเทศยูกันดาภายใต้การปกครองของอามินถือได้ว่าไร้ซึ่งสิทธิมนุษยชน มีนโยบายในการสังหารผู้คน เป็นพวกเผ่าพันธุ์นิยม มีการลงโทษนอกกระบวนการยุติธรรม เห็นแก่พวกพ้อง มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ ข้อมูลจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนคาดว่ามีผู้เสียชีวิตในขณะที่อามินดำรงตำแหน่งประมาณ 100,000 ถึง 500,000 คน
ผู้ที่หนุนหลังอามินอย่างชัดเจนก็คือ นายพลมูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟีแห่งลิเบีย, สหภาพโซเวียต และเยอรมนีตะวันออก โดยสนับสนุนอามินในการต่อต้านบริเตนใหญ่, อิสราเอล, และแอฟริกาใต้สมัยแบ่งแยกสีผิว
ในปี พ.ศ. 2518-2519 อามินได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานองค์การเอกภาพแอฟริกา (Organisation of Africa Unity) ของขบวนการแพนแอฟริกาเพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในทวีปแอฟริกา ตลอดปี พ.ศ. 2520-2522 อามินเรียกชื่อตนเองว่า "ฯพณฯ ประธานาธิบดีตลอดชีพ จอมพล อัล หัจญี ด็อกเตอร์[B] อีดี้ อามิน ดาด้า, วีซี.[C], ดีเอสโอ., เอ็มซี., ซีบีอี., ผู้พิชิตจักรวรรดิอังกฤษในทวีปแอฟริกาทั้งหมดและผู้พิชิตยูกันดาโดยเฉพาะ"
ความแตกร้าวระหว่างประเทศยูกันดาและอามินก่อตัวขึ้นเมื่อเขาพยายามเข้ายึดเมืองคาเกล่าของประเทศแทนซาเนีย เกิดเป็นสงครามยูกันดา-แทนซาเนียขึ้นในปี พ.ศ. 2521 และถือเป็นการจบสิ้นการปกครองของเขา อามินหนีไปอยู่ประเทศลิเบียเป็นที่แรก ก่อนที่เขาจะย้ายไปอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ที่เขาเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2546
อามินไม่เคยเขียนอัตชีวประวัติเกี่ยวกับตนเอง และเขาก็ไม่ได้ให้ใครได้กล่าวถึงชีวิตของเขาเลย แต่จากแหล่งที่มาเกี่ยวกับชีวประวัติของอามินส่วนใหญ่ชี้ว่าอามินเกิดประมาณ พ.ศ. 2468 ที่เมืองโกโบโก้หรือไม่ก็กัมปาลา สมัครเข้าเป็นลูกน้องของเฟร็ด กูเว็ดเดโก้จากมหาวิทยาลัยมาเกเรเร่ (มหาวิทยาลัยมาเกเรเร่ตั้งอยู่ที่เมืองกัมปาลา) อีดี้ อามินเป็นลูกชายของอันเดรส ไนอาไบเร่ (Andreas Nyabire พ.ศ. 2432-2519) ซึ่งบิดาของอามินเป็นชาวกากวา (Kakwa) ซึ่งได้เปลี่ยนศาสนาจากคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกเป็นอิสลาม และได้เปลี่ยนชื่อลูกชายของเขาเป็นอามิน ดาด้านั่นเอง เมื่อเขาถูกผู้เป็นบิดาทอดทิ้ง อามินได้เติบโตในครอบครัวของมารดาของเขา ข้อมูลจากกูเว็ดเดโก้บอกว่ามารดาของอามินชื่อแอสซ่า แอตเต้ (Assa Aatte พ.ศ. 2447-2513) เป็นชาวเผ่าลุกบาร่าและเป็นผู้สืบทอดความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรประจำเผ่าและทำหน้าที่รักษากษัตริย์แห่งอาณาจักรบูกันดา (Buganda) และชาวบ้านทั่วไป เมื่อปี พ.ศ. 2484 อามินเป็นนักเรียนโรงเรียนมุสลิมในเมืองบอมโบ หลังจากนั้น 2-3 ปี อามินออกจากโรงเรียนและทำงานเล็กๆน้อยๆ ก่อนที่จะผันตัวเองเข้าเป็นทหารในสังกัดกองทัพอาณานิคมบริเตน
อามินเข้าเป็นสมาชิกของกรมทหารปืนเล็กยาวแอฟริกา (King's African Rifles) แห่งกองทัพอาณานิคมบริเตนในปี พ.ศ. 2489 ในตำแหน่งผู้ช่วยคนครัว เขาอ้างว่าได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทำการรบที่ประเทศพม่า แต่ในบันทึกบอกเอาไว้ว่าอามินได้เข้าร่วมกองทัพหลังจากที่สงครามได้ยุติไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2490 เขาถูกย้ายไปประจำการเป็นพลทหารของกองพันทหารปืนเล็กยาวแอฟริกาที่ 21 ณ เมืองจิลจิล ประเทศเคนยา จนถึงปี พ.ศ. 2492 ในปีนั้นหน่วยรบของเขาได้แปรแถวไปที่ประเทศโซมาเลียเพื่อต่อสู้กับผู้ก่อจลาจลในโซมาเลีย ในปี พ.ศ. 2495 หมู่ทหารของอามินได้ทำการปราบจลาจลมัว มัว ในประเทศเคนย่า ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสิบเอกในปี พ.ศ. 2496
ในปี พ.ศ. 2501 อามินได้รับตำแหน่งจ่านายสิบ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ชาวแอฟริกันผิวดำในกองทัพอาณานิคมบริเตนจะได้รับในเวลานั้น อามินกลับสู่มาตุภูมิในปีเดียวกัน ต่อมาอีก 2 ปีเขาได้รับการนำเสนอให้ได้รับตำแหน่งร้อยโท เป็นหนึ่งในสองชาวยูกันดาแรกที่ได้รับตำแหน่งสูงขนาดนั้น ในทันทีเขาได้รับหน้าที่ให้ปราบปรามปัญหาการขโมยปศุสัตว์ในคาราโมจองของยูกันดาและเตอกานาของเคนยา ในปี พ.ศ. 2504 เขาได้ถูกเสนอชื่อให้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก และพันตรีในปีถัดมา และอีกปีถัดมาก็รั้งตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการกองทัพ.
อามินยังเป็นนักกีฬาขณะที่รับใช้กองทัพ เขาสูง 193 เซนติเมตรและมีพลังสูงมาก เขาชนะเลิศในการชกมวยรุ่นไลท์เฮฟวีเวทของยูกันดาระหว่างปี พ.ศ. 2494-2503 ทั้งยังว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วย อามินเป็นนักกีฬารักบี้ตัวรุกที่ดุดัน เคยเล่นให้กับทีมไนล์ อาร์เอฟซี (Nile RFC) และทีมบริติชและไอริช ไลอ้อนส์ (British and Irish Lions) เกือบได้อามินมาร่วมเล่นให้กับทีมที่ประเทศแอฟริกาใต้ในฤดูกาลปี พ.ศ. 2498 แต่เขาเลือกที่จะเป็นตัวสำรองของทีมแอฟริกาตะวันออก 15 (East Afica XV) ซึ่งเขาเป็นผู้เล่นผิวดำคนเดียวของทีม อย่างไรก็ตามเขาไม่เคยได้โอกาสลงเล่นในสนามเลย หลังจบการแข่งขันเขามักจะนั่งนอกอาคารของสโมสรเพื่อดื่มน้ำอัดลมโค้กเป็นประจำ
ในปี พ.ศ. 2508 มิลตัน โอโบเต้ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับอีดี้ อามินได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบนำงาช้างและทองคำเข้าประเทศยูกันดาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกอย่างผิดกฎหมาย เรื่องการลักลอบนำเข้านั้นเป็นข้อมูลที่ได้รับการกล่าวอ้างจากนายพลนิโคลาส โอเล็นก้า ผู้ที่มีส่วนร่วมกับผู้นำชาวคองโกพาทริค ลูมัมบาในภายหลัง การลักลอบเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับกับรัฐบาลของคองโกให้มีการลักลอบงาช้างกับทองคำเพื่อไม่ให้มีการเผชิญหน้าทางการทหารกับกองทัพของอามิน ในปี พ.ศ. 2509 ทางรัฐสภาได้มีข้อเรียกร้องให้สืบสวนเรื่องดังกล่าว โอโบเต้ได้กำหนดกฎหมายข้อบังคับใหม่ ให้ยกเลิกพิธีแต่งตั้งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยกาบาก้า (กษัตริย์) เอ็ดเวิร์ด มูเทซ่าที่ 2 แห่งบูกันดาลง และประกาศแต่งตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีบริหารบ้านเมือง เขาสนับสนุนให้อามินเป็นผู้บัญชาการกองทัพ อามินได้เข้าทำลายพระราชวังของกาบาก้า และใช้กำลังเนรเทศมูเทซ่าไปที่สหราชอาณาจักร ที่ที่มูเทซ่าอยู่จนกระทั่งชีวิตในปี พ.ศ. 2512.
อามินเริ่มรับทหารใหม่จากกากวา, ลักบาร่า, นูเบียน และชนเผ่าอื่นๆ ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนประเทศซูดาน ชาวนูเบียนได้อพยพจากประเทศซูดานเข้ามาสังกัดกองพันทหารอยู่ในประเทศยูกันดามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว ในประเทศยูกันดานั้น ชาวนูเบียนถือเป็นชาวต่างด้าวและถูกมองเป็นพวกอพยพจากการก่อจลาจลในสงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่ 1 (First Sudanese Civil War) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศยูกันดาเลย เพราะว่ามีชนเผ่าอยู่มากมายทางตอนเหนือของประเทศยูกันดาอาศัยอยู่ในทั้งยูกันดาและซูดาน ดังนั้นจึงอาจกล่าวอ้างได้ว่ากองทัพของอามินนั้นกอปรขึ้นจากเลือดเนื้อเชื้อไขทหารชาวซูดานด้วย
ในที่สุดก็เกิดรอยร้าวระหว่างอีดี้ อามินกับประธานาธิบดีมิลตัน โอเบเต้ ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงนั้นเกิดจากมีการหนุนให้อามินสร้างกองทัพทหารด้วยการรับทหารใหม่จากดินแดนแถบตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ความเกี่ยวข้องของเขาในการปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการก่อจลาจลทางตอนใต้ของประเทศซูดาน และพยายามสังหารโอเบเต้ในปี พ.ศ. 2512 ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 โอเบเต้ได้เข้ามาควบคุมกองทัพทหารด้วยตัวเอง ทำให้ลดอำนาจของอามินโดยปริยาย
อามินทราบถึงแผนการที่โอเบเต้จะจับกุมตัวเขาในข้อหายักยอกเงินทุนของกองทัพ ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2514 อามินจึงทำการยึดอำนาจ ขณะที่โอเบเต้กำลังเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเครือจักรภพแห่งชาติ ณ ประเทศสิงคโปร์ ทหารที่จงรักภักดีต่ออามินทำการยึดสนามบินนานาชาติเอ็นเต็บเบ้ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำคัญในการเข้าประเทศยูกันดาและเมืองกัมปาลา ทหารเข้าห้อมล้อมทำเนียบของโอเบเต้และปิดถนนหลัก มีการออกอากาศทางวิทยุของยูกันดากล่าวหาว่ารัฐบาลของโอเบเต้ฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีสิทธิพิเศษเหนือดินแดนแลนโก้ (เมืองหนึ่งในประเทศยูกันดา) หลังจบการรายงานทางวิทยุฝูงชนต่างออกมาไชโยโห่ร้องกันทั่วท้องถนนของเมืองกัมปาลา อามินประกาศว่าเขานั้นเป็นทหาร ไม่ใช่นักการเมือง และนี่คือรัฐบาลทหารที่อยู่เพื่อปกครองดูแลบ้านเมืองจนกระทั่งมีการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น ซึ่งการประกาศนั้นเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์เริ่มเป็นปกติ และเขายังให้สัญญาว่าจะปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองอีกด้วย
อีดี้ อามินได้รับการยอมรับทั้งภายในประเทศยูกันดาและนานาอารยประเทศ เขาอนุญาตให้มีการนำร่างของอดีตกษัตริย์และประธานาธิบาดีมูเทซ่า เอ็ดเวิร์ดที่ 2 (สิ้นพระชนม์ระหว่างถูกเนรเทศ) มาประกอบพิธีฝังพระศพไว้ในประเทศเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 ทำการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองหลายคน และอามินยังย้ำคำมั่นสัญญาที่จะให้มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนในเวลาอันสั้น
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 หนึ่งสัปดาห์หลังจากทำการรัฐประหาร อามินได้สถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดีของประเทศยูกันดา ,ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,หัวหน้าเสนาธิการกองทัพและหัวหน้าเสนาธิการทหารอากาศ อามินประกาศเอาไว้ว่าจะลาออกจากตำแหน่งต่างๆ อย่างแน่นอนเมื่อเขาได้จัดการเลือกตั้งเรียบร้อยและในไม่ช้าจะมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษากลาโหมโดยมีอามินนั่งเป็นประธานสภา อามินอยู่ภายใต้ศาลทหารที่เหนือกว่าศาลพลเรือนทั่วไป มีคำสั่งให้ทหารไปที่ทำการหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลกับรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับการโฆษณาเพื่อทำการแจ้งข่าวแนะนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พวกเขาล้วนได้รับการฝึกวินัยทางทหารอย่างเคร่งครัด อามินเปลี่ยนชื่อที่ทำการของประธานาธิบดีจากทำเนียบรัฐบาล (Government House) เป็น "กองบัญชาการ (The Command Post)" เขายกเลิกหน่วยงานบริการทั่วไป (The General Service Unit : GSU) ซึ่งเป็นองค์การที่สืบข่าวให้กับรัฐบาลชุดก่อน และเปลี่ยนมันเป็นสำนักงานสืบค้นข่าว (State Reserch Bureau : SRB) สำนักงานใหญ่ของ SRB ตั้งอยู่ชานกรุงกัมปาลา เป็นที่ซึ่งเหมาะแก่การทรมานและสังหารผู้คนในอีก 2-3 ปีต่อมา องค์กรอื่นที่ถูกถอดถอนเช่น หน่วยงานสารวัตรทหาร, หน่วยรักษาความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety Unit : PSU)
โอโบเต้ได้ลี้ภัยอยู่ประเทศแทนซาเนีย โดยจูเลียส ไนเรอร์ ประธานาธิบดีแห่งแทนซาเนียได้จัดไว้ให้ โอโบเต้กับผู้ลี้ภัยชาวยูกันดาราว 20,000 คนพยายามเข้าประเทศยูกันดาเรื่อยมา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเลย (โอโบเต้กลับมาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี พ.ศ. 2523)
อามินเริ่มจัดการกับกลุ่มคนที่ยังจงรักภักดีโอโบเต้ ในปี พ.ศ. 2515 อันได้แก่กลุ่มชนเผ่าอะโชลีและแลนโก้ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2514 ทหารของอะโชลีและแลนโก้ถูกสังหารหมู่ในโรงเรียนทหารจากจินจาและมบาราร่าจำนวนมาก และต้นปี พ.ศ. 2515 ทหารของอะโชลีและแลนโก้ประมาณ 5,000 นายกับชาวบ้านบางส่วนหายสาบสูญ ไม่นานเหล่าผู้เคราะห์ร้ายก็หันไปพึ่งชนเผ่าอื่น, ผู้นำลัทธิ, นักหนังสือพิมพ์, ข้าราชการอาวุโส, ผู้พิพากษา, นักกฎหมาย, นักศึกษา, อาชญากร และชาวต่างชาติ เพื่อกระจายข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และจะมีผู้คนถูกสังหารอีกมากมาย
การสังหารถูกกระตุ้นโดยชนเผ่าตามปัจจัยทางนโยบายและการคลังดำเนินอยู่ตลอด 8 ปีที่อามินดำรงตำแหน่ง ไม่มีใครทราบจำนวนตัวเลขแน่นอนของคนที่ถูกสังหาร คณะกรรมาธิการนักกฎหมายสากลประมาณตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ไม่ต่ำกว่า 80,000 คนและอยู่ประมาณ 300,000 คน แต่การประมาณตัวเลขผู้เสียชีวิตขององค์กรผู้ลี้ภัยที่ได้รับการช่วยเหลือจากองค์การนิรโทษกรรมสากลได้คาดไว้ถึง 500,000 คน ในกลุ่มผู้ที่ถูกสังหาร ชื่อที่สะดุดตานั้นมีเบเนดิกโต กิวานุก้า อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา,จานานี ลุวุม แองกลิคันอาร์ชบิชอปแห่งคริสตจักรแห่งยูกันดา, โจเซฟ มูบิรุ ผู้ว่าการธนาคารกลาง, แฟร้งค์ มาลิมุโซ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมาเกเรเร่, ไบรอน กาวาดว่า นักประพันธ์บทละครผู้มีชื่อเสียงและสองรัฐมนตรีของอามินเองคืออีรินาโย วิลสัน ออร์เยม่ากับชาลส์ โอบอธ โอโฟมบิ
ในปี พ.ศ. 2520 เฮนรี เกมบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลอามินและอดีตข้าราชการในสมัยโอโบเต้เป็นประธานาธิบดีครั้งแรก ได้ละทิ้งตำแหน่งและไปตั้งรกรากใหม่ที่สหราชอาณาจักร เขาเขียนและตีพิมพ์หนังสือ "A State of Blood" เกมบาคือบุคคลภายในคนแรกที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการปกครองของอามิน
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 อามินประกาศสิ่งที่เขาเรียกว่า "สงครามเศรษฐกิจ (Economic War)" มีนโยบายอย่างเช่น ยึดอสังหาริมทรัพย์ของชาวเอเชียและชาวยุโรป ชาวเอเชียในยูกันดา 80,000 คนส่วนใหญ่เป็นชาวอนุทวีปอินเดียที่เกิดในยูกันดา บรรพบุรุษของพวกเขาเข้ามาประกอบวิชาชีพ เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมของขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศยูกันดา ตั้งแต่สมัยที่ประเทศของพวกเขายังอยู่ในเครือจักรภพ
4 สิงหาคม พ.ศ. 2515 อามินออกคำสั่งให้ขับไล่ชาวเอเชียในประเทศยูกันดา 60,000 คน (ส่วนใหญ่ถือหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักร) ต่อมาภายหลังเขาได้ออกมาขอโทษกับชาวเอเชียทั้งหมด 80,000 คนต่อมาตรการดังกล่าว และขอยกเว้นชาวเอเชียที่ประกอบอาชีพจำพวกแพทย์, นักกฎหมาย และครู แต่ชาวเอเชียราว 30,000 คนที่ถือหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักรก็ตัดสินใจอพยพออกนอกประเทศยูกันดาไปที่บริเตนใหญ่ ที่เหลือได้เดินทางไปที่ประเทศออสเตรเลีย, แคนาดา, อินเดีย, ปากีสถาน, สวีเดนและสหรัฐอเมริกา อามินได้ยึดเอาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ของชาวเอเชีย ยกให้แก่พวกพ้องของอามิน ธุรกิจเหล่านั้นประสบความล้มเหลว อุตสากหรรมล้มละลายเนื่องจากขาดการดูแล เริ่มปรากฏหายนะทางเศรษฐกิจ
ภายหลังทำการขับไล่ชาวเอเชียในประเทศยูกันดาในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ประเทศอินเดียได้ลดความสำคัญทางการทูตลงกับประเทศยูกันดา ในปีเดียวกัน ส่วนหนึ่งของนโยบายสงครามเศรษฐกิจของอามิน ได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหราชอาณาจักรลงและทำการกำกับดูแลธุกิจของชาวสหราชอาณาจักร 85 ธุรกิจโดยรัฐบาล
ในปีนั้นอามินได้ทำการขับไล่ที่ปรึกษาทางทหารอิสราเอลออก และหันไปรับการสนับสนุนจากมูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี ผู้นำลิเบียและสหภาพโซเวียตแทนและออกมาต่อว่าอิสราเอลอย่างไม่พอใจ ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง General Idi Amin Dada: A Self Portrait เขาได้พูดถึงแผนการที่จะสร้างสงครามต่อต้านอิสราเอลขึ้น จะใช้พลร่ม, ระเบิดและกองทัพระเบิดพลีชีพ ภายหลังอามินออกมากล่าวถึงฮิตเลอร์ว่า "ทำถูกแล้วที่เผาทำลายยิว 6 ล้านคน"
พ.ศ. 2516 โธมัส พาทริค เมลาดี้เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศยูกันดาในขณะนั้น แนะนำให้สหรัฐอเมริกาลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศยูกันดาลง เมลาดี้พรรณนาถึงการปกครองของอามินว่า "เห็นแก่พวกพ้อง, เอาแน่เอานอนและคาดเดาไม่ได้, ทารุณโหดร้าย, งี่เง่า, ก้าวร้าว, ไร้เหตุผล, น่าหัวร่อ และเป็นพวกทหารนิยม" ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจึงทำการถอนคณะทูตออกจากเมืองกัมปาลา
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2519 อามินยอมให้เครื่องบินของสายการบินแอร์ฟรานซ์ที่ถูกสมาชิกขบวนการปลดแอกปาเลสไตน์-ปฏิบัติการนอกดินแดน (PFLP-EO) และสมาชิกกลุ่มปฏิวัติเยอรมนี (RZ) จี้กลางอากาศลงจอดที่สนามบินนานาชาติเอ็นเต็บเบ้ ตัวประกัน 156 คนที่ไม่ได้ถือหนังสือเดินทางประเทศอิสราเอลถูกปล่อยตัวและได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ส่วนชาวยิวและพลเมืองชาวอิสราเอล 83 คนกับพนักงานเครื่องบินและพวกที่เหลืออีก 20 คนยังคงเป็นตัวประกันอยู่ ในภายหลังทางอิสราเอลได้เข้าช่วยเหลือตัวประกันในปฏิบัติการณ์ที่ชื่อว่า "ปฏิบัติการณ์สายฟ้า (Thunderbolt Operation)" หรือรู้จักกันในชื่อ "ปฏิบัติการณ์เอ็นเต็บเบ้" ตัวประกันเกือบทั้งหมดรอดเป็นอิสระ แต่ตัวประกัน 3 คนเสียชีวิตและอีก 10 คนบาดเจ็บ ผู้ก่อการร้าย 6 คน, ทหารยูกันดา 45 คนและทหารอิสราเอล 1 คนคือโยนาทาน เนทันยาฮู (Yonatan Netanyahu) ถูกสังหาร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับนานาประเทศของยูกันดาย่ำแย่ลง ทางบริเตนทำการถอนข้าหลวงออกจากประเทศยูกันดาทันที
ประเทศยูกันดาภายใต้อำนาจการปกครองของอามินได้ดำเนินการส่งเสริมการทหารให้แข็งแกร่งขึ้น เนื่องด้วยการสะสมกองกำลังของประเทศเคนยา ทางการเคนยาได้ทำการยึดเรือสินค้าของโซเวียตลำที่มีเส้นทางเข้าประเทศยูกันดาเอาไว้ที่ท่าเรือมอมบาซ่าของประเทศเคนยา สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างยูกันดาและเคนยาบรรลุมาถึงจุดแตกหักในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 เมื่ออามินประกาศว่าเขาจะสืบสาวเหตุการณ์ในซูดานตอนใต้และภาคตะวันตกกับภาคกลางของเคนยา เข้าไปถึง 32 กิโลเมตร (20 ไมล์) ของกรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา ซึ่งตามประวัติศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งอาณานิคมของยูกันดา รัฐบาลของเคนยาได้ตอกกลับไปว่าเคนยาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่ง"แม้แต่นิ้วเดียว" ต่อมาอามินเปลี่ยนใจเนื่องจากเคนยาได้ส่งกองกำลังและยานหุ้มเกราะบรรทุกทหารมาที่ชายแดนระหว่างยูกันดาและเคนยา
ความสัมพันธ์กับประเทศลิเบียนั้น ผู้นำเผด็จการทหารมูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟีก็ถือหางอามินอยู่ เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของกองทัพทหารของอามิน
เยอรมนีตะวันออกนั้นมีส่วนพัวพันอยู่กับหน่วยงานบริการทั่วไป (GSU) และสำนักงานสืบค้นข่าวกรอง (SRB) ซึ่งเป็นสององค์กรที่ขึ้นชื่อเรื่องความสยดสยอง จนกระทั่งแทนซาเนียได้เข้าทำการบุกรุกเมื่อปี พ.ศ. 2522 เยอรมนีตะวันออกจึงได้พยายามนำหลักฐานต่างๆ ออกมาจากสถานที่เหล่านั้น
อามินพูดจาขวานผ่าซากและมีพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้มาโดยตลอด สหราชอาณาจักรยุติสัมพันธ์ทางการทูตกับยูกันดาภายใต้อำนาจการปกครองของเขา วิทยุในประเทศยูกันดาได้อ่านคำนำหน้าชื่อของเขาใหม่ว่า "ฯพณฯ ประธานาธิบดีตลอดชีพ จอมพล อัล หัจญี ดร.อีดี้ อามิน ดาด้า, วีซี., ดีเอสโอ., เอ็มซี., ซีบีอี.," อามินกับโมบูตู เซเซ เซโก้ประธานาธิบดีของประเทศซาเอียร์ (หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน) ได้ร่วมกันเปลี่ยนชื่อทะเลสาบอัลเบิร์ตกับทะเลสาบเอ็ดเวิร์ดเป็นทะเลสาบโมบูตู เซเซ เซโก้กับทะเลสาบอีดี้ อามิน ดาด้าตามลำดับ
มีข่าวลือหรือและเรื่องโกหกเกี่ยวกับอามิน เช่นมีเรื่องที่เชื่อกันแพร่หลายว่าเขาเป็นพวกที่ชอบกินเนื้อมนุษย์ บ้างก็มีข่าวลือที่ไม่มีแหล่งที่มาว่าเขาฉีกร่างของภรรยาคนหนึ่งซึ่งเป็นข่าวลือที่ถูกแพร่ขยายและโด่งดังโดยภาพยนตร์ Rise and Fall of Idi Amin ในปี พ.ศ. 2524 และในปี พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เรื่อง The Last King of Scotland ก็ได้พาดพิงถึงเรื่องนี้เช่นกัน
ในช่วงที่อามินเรืองอำนาจ สื่อนอกประเทศยูกันดามักวาดภาพของเขาให้มีรูปร่างตลก พ.ศ. 2520 นิตยสารไทม์ได้วิเคราะห์เรื่องของอามินในหัวข้อ "ฆาตกรและตัวตลก, ตลกหยาบช้าผู้กล้าและมีเคร่งต่อท่าทางอันจองหอง" บทความมุ่งเน้นไปที่เรื่องนิสัยชอบละเมิดและการยกระดับอัจฉริยภาพของอามิน บ่อยครั้งสื่อต่างชาติออกมาตำหนิการกลบเกลื่อนและแก้ตัวในพฤติกรรมที่ชอบสังหารผู้คนของตน นักวิจารณ์บางกลุ่มแนะนำให้อามินบ่มเพาะตนเองใหม่เพราะสื่อต่างชาติต่างมองการปกครองของอามินเป็นตลกร้ายไปเสียแล้ว
สงครามยูกันดา-แทนซาเนีย (ในยูกันดาถูกอ้างถึงในชื่อสงครามปลดแอก) เป็นสงครามระหว่างประเทศยูกันดาและประเทศแทนซาเนีบระหว่างปี พ.ศ. 2521-2522 กองทหารบางส่วนของอามินมาจากกองทหารของมูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย สงครามนี้นำไปสู่การล้มล้างระบอบการปกครองของอีดี้ อามิน
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยูกันดากับแทนซาเนียกระท่อนกระแท่นมานานหลายปีก่อนเกิดสงคราม หลังการยึดอำนาจของอามินในปี พ.ศ. 2514 ผู้นำแทนซาเนียจูเลียส ไนเรอร์เสนอให้มิลตัน โอโบเต้ลี้ภัยมาที่ประเทศของตน โอโบเต้และผู้ลี้ภัยอีก 20,000 คนตอบตกลง ในปีถัดมากลุ่มของผู้ลี้ภัยเข้าบุกยูกันดาเพื่อทำการปลดอามินออกจากตำแหน่งแต่ไม่สำเร็จ อามินตำหนิไนเรอร์ที่คิดเป็นศัตรูของเขา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเข้าสู่สถานการณ์ตึงเครียดหลายปี
ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2521 มีกองกำลังทหารเข้าซุ่มโจมตีอามิน ณ ที่ทำการประธานาธิบดีในกรุงกัมปาลา แต่อามินและครอบครัวหลบหนีออกมาได้ทางเฮลิคอปเตอร์ เหตุการณ์แบบนี้เริ่มเกิดขึ้นอยู่บ่อนครั้งเมื่อคนใกล้ชิดของอามินแสดงอาการหวั่นกลัว เขาต้องเผชิญกับความแตกแยกภายในประเทศยูกันดามากขึ้น เมื่อมุสตาฟา อดริซี รองประธานาธิบดีของอามินได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีพิรุธว่ามีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง กองทหารที่อารักขาอดริซี (และทหารอื่นที่ไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) ทำการขัดขืนต่อคำสั่งทางทหาร อามินได้ส่งกองพันราชสีห์ (Simba) ที่คัดสรรมาเพื่อปราบปรามกลุ่มทหารกบฏที่ทำการขัดขืน กลุ่มกบฏบางส่วนข้ามไปยังชายแดนของประเทศแทนซาเนีย กลุ่มกบฏตั้งฐานต่อต้านกองทัพของอามินในประเทศแทนซาเนีย
อามินประกาศสงครามต่อแทนซาเนีย ส่งกองทหารไปโจมตีและยึดเอาบางส่วนของเมืองคาเกล่า ดินแดนของประเทศแทนซาเนีย และอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของยูกันดา
ไนเรอร์ระดมพลกองทัพประชาชนแทนซาเนีย (Tanzania People's Defence Force) และทำการโต้กลับกองทัพของอามิน ในอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมากองทัพแทนซาเนียมีสมาชิกมากมายอาทิตำรวจ, ราชทัณฑ์, ข้าราชการและกองทหารอาสาสมัคร แทนซาเนียรับกลุ่มต่อต้านอามินมากมายที่ถูกเนรเทศ รวมตัวเป็นกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูกันดา (Uganda National Liberation Army : UNLA) ที่ประกอบไปด้วยกองทหารกิโกซี มาลุม (เป็นภาษาสวาฮีลีแปลว่ากองกำลังพิเศษ) นำโดยติโต โอเกลโลและเดวิด โอยิเต-โอจ็อก, กลุ่มแนวหน้าพาชาติพ้นภัย (Front for National Salvation : FRONASA) นำโดยโยเวลี มุเซเวนี และกลุ่มคุ้มครองการเคลื่อนไหวของยูกันดานำโดยอเกน่า พี'โอจ็อก, วิลเลียม โอมาเรียและอเตเกอร์ อีจาลู
กองทัพแทนซาเนียได้นำเครื่องยิงจรวดคัทยูชา (Katyucha Rocket Launcher) ของรัสเซีย (ในยูกันดาเรียกว่า saba saba) มาใช้ในการยิงเป้าหมายภายในประเทศยูกันดา จนทำให้กองทัพของยูกันดาต้องถอยไปตั้งหลักกันใหม่ มูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี ผู้นำลิเบียจัดส่งกองทหาร 2,500 นายให้แก่อามิน พร้อมรถถัง T-54, รถถัง T-55, รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ BTR APCs, เครื่องยิงจรวด BM-21 Katyusha MRLs, เหล่าทหารปืนใหญ่, เครื่องบินรบ MiG-21s และเครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-22 อย่างไรก็ตามลิเบียก็ได้รับรายงานจากทางแนวหน้าว่าลับหลังลิเบีย กองทัพยูกันดาได้ใช้รถถังที่ได้มาขนทรัพย์สมบัติที่ปล้นมาได้จากศัตรู
กองพันทหารของลิเบียเป็นการผสมรวมกันของกองทัพลิเบีย, ประชาชนอาสาสมัคร และกองทหารอาหรับ หน่วยย่อยซาฮาราน-แอฟริกัน กองพันนี้ถึงส่งมาปฏิบัติภารกิจนอกประเทศ
แทนซาเนียได้ร่วมกับกลุ่ม UNLA เคลื่อนที่ไปยังตอนเหนือของกรุงกัมปาลา แต่ต้องล่าช้าด้วยหนองบึงที่ลึกทางเหนือของเมืองลุกาย่าเป็นอุปสรรค ทางแทนซาเนียจึงตัดสินใจส่งทหาร 201 หมู่ข้ามถนนที่จองไว้เหนือหนองดังกล่าวตราบที่ถนนยังใช้งานได้อยู่ ทหารอีก 208 หมู่เดินตามริมตลิ่งด้านตะวันตกของหนองน้ำลึกในกรณีที่ถนนที่จองไว้เหนือบึงแออัดหรือถูกทำลาย แทนซาเนียมีแผนที่จะเข้าตีกองพันทหารของลิเบียเพื่อยึดเอารถถัง T-55 12 คัน, รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ APCs 12 คันและเครื่องยิงจรวด BM-21 MRLs มีเจตนาที่จะขยายกำลังถึงเมืองมาซาก้า แต่เกิดการปะทะกันที่เมืองลุกาย่าในวันที่ 10 มีนาคม แทนซาเนียส่งกองทหาร 201 หมู่ถอยกลับในช่วงชุลมุนอย่างทุลักทุเล อย่างไรก็ตามแทนซาเนียได้ทำการตีโต้ในคืนวันที่ 11-12 มีนาคมจาก 2 ทิศทาง ดังนี้ ทหาร 201 หมู่ที่จัดทัพใหม่เข้าตีทางทิศใต้ อีก 208 หมู่เข้าตีทางตะวันตกเฉียงเหนือ แทนซาเนียพิชิตชัยชนะ กองทัพใหญ่จากลิเบียที่ส่วนใหญ่เป็นทหารอาสาสมัครแตกและถอยหนีอย่างรวดเร็ว มีรายงานว่ามีชาวลิเบียเสียชีวิตมากกว่า 200 คนและอีก 200 คนเป็นพันธมิตรทหารยูกันดา
แทนซาเนียและกองกำลัง UNLA พบกับศึกเล็กศึกน้อยหลังสมรภูมิที่ลุกาย่า ขณะที่เคลื่อนทัพต่อไปยังด้านตะวันตกของกรุงกัมปาลา สถานที่แรกที่เคลื่อนทัพไปถึงคือสนามบินเอ็นเต็บเบ้ และที่นั่นได้ทำการปลดแอกอิสรภาพกรุงกัมปาลาในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2522 มีกองทหารยูกันดาหรือไม่ก็ลิเบียเพีง 2-3 หน่วยเป็นอุปสรรคไม่น้อย เคนเน็ธ มิชาเอล โพลลัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการทหารของตะวันออกกลางได้กล่าวเอาไว้ว่า ปัญหาใหญ่ของกองทหารแทนซาเนียคือขาดแคลนแผนที่ของกรุงกัมปาลา อามินหนีไปยังลิเบียเป็นที่แรก ก่อนจะเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย กองกำลังของลิเบียถอนกำลังไปยังเมืองจินจาก่อนจะถอยไปยังประเทศเคนยาและเอธิโอเปียเป็นที่สุดท้าย กองทัพของแทนซาเนียยังคงอยู่ในยูกันดาจนสถานการณ์สงบเมื่อกลุ่มปกป้องการเมือง UNLA (UNLF) จัดระเบียบการเลือกตั้งลงรัฐธรรมนูญของประเทศอีกครั้ง
รัฐบาลแทนซาเนียได้แจกจ่ายเหรียญกล้าหาญ Nishani ya Vita โดยเหรียญจารึกคำว่า Vita-1978-1979 (ด้านบน) และ Tanzania (ด้านล่าง) ส่วนด้านหลังเป็นด้านเรียบ
ภายหลังจากแพ้สงครามแล้ว อามินได้รับการช่วยเหลือจากมูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟีให้ลี้ภัยมายังประเทศลิเบีย หลังกรุงกัมปาลาถูกยึดเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2522 ต่อมาอามินเดินทางต่อไปที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ที่ราชวงศ์ซาอุจะจ่ายค่ากินอยู่ของอามินขณะลี้ภัยทางการเมือง อามินอาศัยอยู่ที่ชั้น 2 ของโรงแรมโนโวเทล ถนนปาเลสไตน์ กรุงเจดดะห์นานหลายปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ไบรอัน บาร์รอน หัวหน้าผู้สื่อข่าวแอฟริกาของ BBC ผู้รับผิดชอบข่าวสงครามอูกันดา-แทนซาเนีย ได้ตามหาตัวอามินจนเจอ และได้เป็นผู้สัมภาษณ์อามินเป็นคนแรกหลังลงจากอำนาจ
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 มาดินา อามิน (ภรรยาของอามิน) รายงานว่าอามินอยู่ในอาการโคม่าและใกล้จะถึงแก่อสัญกรรมที่โรงพยาบาลเฉพาะทางกษัตริย์ไฟแซล (King Faisal Specialist Hospital) เมืองเจดดะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เธออ้อนวอนให้โยเวรี มุเซเวนีประธานาธิบดีของยูกันดาอนุญาตให้อามินกลับมาสิ้นใจที่ประเทศบ้านเกิด มุเซเวนีตอบกลับไปว่า "คำตอบสำหรับบาปกรรมของเขาที่ได้กระทำไว้นั้นนำประเทศไปสู่ความล้าหลัง" อามินถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ร่างของเขาถูกฝังที่ป่าช้ารูวาอิสในเมืองเจดดะห์
ด้วยประเพณีที่สามารถมีภรรยาได้หลายคน อีดี้ อามินแต่งงานอย่างน้อย 6 ครั้ง ภรรยา 3 คนหย่าร้าง ภรรยาคนแรกมัลยามูและเคย์ ภรรยาคนที่สองแต่งงานกับอามินในปี พ.ศ. 2509 แต่งงานกับนอร่าในปีถัดมาและแต่งงานกับมาดินา พ.ศ. 2515 ในันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2517 เขาประกาศทางวิทยุประเทศยูกันดาว่าได้ทำการหย่ากับมัลยามู, นอร่าและเคย์ ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน มัลยามูถูกจับขังไว้ที่เมืองโตโรโร่ชายแดนติดกับประเทศเคนยา ในข้อหาพยายามปล้นกระชอนผ้าในเคนยา ภายหลังเธอย้ายไปอยู่ที่กรุงลอนดอน เคย์ อามินเสียชีวิตในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2517 ตามรายงานเธอเสียชีวิตเนื่องจากพยายามทำแท้งโดยนายแพทย์มบาลู มุกาซ่า คนรักของเธอ (เขาได้ฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา) ร่างของเธอถูกพบในสภาพฉีกขาด ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2518 ขณะที่องค์การเอกภาพแอฟริกา (Organisation of African Unity : OAU) จัดการประชุมกลุ่มผู้นำในกรุงกัมปาลา อามินได้แต่งงานกับซาร่าห์ เกียวลาบา คนรักของซาร่าห์ที่อยู่ด้วยกันก่อนที่ซาร่าห์จะพบกับอามินได้หายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย มีรายงานว่าในปี พ.ศ. 2546 อามินได้แต่งงานอีกครั้งก่อนที่จะเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือน
จากแหล่งข่าวที่ต่างกัน คาดว่าอามินมีบุตรและธิดารวม 35-40 คน[D] กระทั่ง พ.ศ. 2546 ทาบาน อามินลูกชายคนโตของอามิน นำกลุ่ม West Nile Bank Front (WNBF) ก่อจลาจลต่อต้านรัฐบาลของโยเวลี มุเซเวนี พ.ศ. 2548 ได้รับนิรโทษกรรมจากมุเซเวนี ปีถัดมารั้งตำแหน่งเป็นสมาชิกขององค์กรรักษาความสงบภายในประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรลับของรัฐบาลยูกันดา ลูกชายคนอื่นของอามินที่มีชื่อเสียงก็มีหัจญี อาลี อามิน ที่ลงสมัครเป็นประธานสภาเมืองนเจรู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้นปี พ.ศ. 2550 จาฟฟาร์ อามินออกมาตอบโต้ทีมงานของภาพยนตร์เรื่อง The last king of Scotland จาฟฟาร์ อามินกล่าวว่าเขาต้องเขียนหนังสือเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของพ่อเขาคืน 3 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ไฟแซล วานกิตา ลูกชายคนหนึ่งของอามินถูกจับกุมในคดีฆาตกรรมที่กรุงลอนดอน